Free JavaScript from 
Rainbow Arch

//////////////

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ชมไป หิวไป พิพิธภัณฑ์ขนมไทย หวานใจอัมพวา

ของดีเหลือคณานับ เมืองตลาดน้ำวิถีชุมชนเก่าของสมุทรสงครามที่เรารู้จักกันดี
พิพิธภัณฑ์ขนมไทย อัมพวา สมุทรสงคราม
“ขนมหวานแม่เอ๊ย ขนมหวาน มาแล้วจ้า ลอดช่องกะทิแตงไทย สาคูเปียก รวมมิตร จ้า” เด็กสมัยใหม่ได้ยินแล้วคงพอเข้าใจแต่อาจนึกภาพตามไม่ออกว่า ถ้าไม่ไปเดินเที่ยวห้างหรือวิ่งเข้าร้านสะดวกซื้อหน้าปากซอยแล้วจะร้องหา “ขนมหวานเดลิเวอรี่” ได้จากไหน อย่างดีที่พอจะเห็นบ้างก็รถขายไอศกรีม แต่ก็เป็นโคนรสชาติใหม่สีสันสดใสราคาหลายสิบบาท หรือไม่ก็แท่งสวยๆ ลายแปลกๆ ใหม่ๆ ไม่ใช่ไอศกรีมกะทิสดหรือไอศกรีมตัดแบบดั้งเดิม
พิพิธภัณฑ์ขนมไทย อัมพวา สมุทรสงคราม
เมืองไทยนี้ มีของดีเหลือคณานับตามความอุดมสมบูรณ์แต่ดั้งเดิม ไม่อย่างนั้นแล้วอาหารการกินของเราคงไม่เลื่องลือติดอันดับโลก อาหารไทยขึ้นชื่อว่าเด่นดัง แต่ขนมไทยก็ยังเด็ดดวงไม่แพ้กัน แถมยังมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ บางเรื่องก็สนุกสนานผจญภัยเหมือนท่องไปในจินตนาการ แล้วจะไม่ให้ขนมไทยของเรามีเสน่ห์ได้อย่างไรกัน
อัมพวา เมืองตลาดน้ำวิถีชุมชนเก่าของสมุทรสงคราม ที่เรารู้จักกันดี จึงมีไอเดียนำเสนอประวัติศาสตร์ไทยผ่านอาหารคาวหวานอันเลื่องลือ ในชื่อ พิพิธภัณฑ์ขนมไทย โดยภาคเอกชนที่ตั้งขึ้นมา เพื่อสืบสานอนุรักษ์ขนมไทยให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก และส่งเสริมให้คนไทยได้หวงแหนในคุณค่าของขนมไทยอันเลื่องชื่อ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ใช้พื้นที่บริเวณชั้น 2 ของอาคารอเนกประสงค์เทศบาลตำบลอัมพวามาเป็นห้องจัดแสดงสีสันของพิพิธภัณฑ์ ก็อยู่ตรงที่เขานำเอาวัสดุเรซินมาประดิดประดอยเป็นรูปทรง ขนมหวานต่างๆ ที่ดูเหมือนจริงมาก ฉะนั้นใครเข้าไปชมก็สามารถหยิบจับถ่ายรูปได้ เพียงแต่เอาใส่ปากรับประทานไม่ได้เท่านั้นเอง
พิพิธภัณฑ์ขนมไทย อัมพวา สมุทรสงคราม
เมื่อมาถึงที่นี่แล้ว จะพบกับความละลานตาของกองทัพขนมไทย (เทียม) ที่แบ่งหมวด แบ่งโซน ตามยุคสมัยถือกำเนิดและตามประเพณีวัฒนธรรมการกินของคนไทยรุ่นก่อน ไล่เรียงมาตั้งแต่ สมัยสุโขทัย ซึ่งถือเป็นยุคแรกที่คนไทยได้รู้จักกับขนม ในศิลาจารึกได้มีการบันทึกเกี่ยวกับขนมว่า เป็นอาหารที่มีข้าวและนมเป็นส่วนผสมหลัก หรือบางครั้งก็มีน้ำกะทิเป็นกระสายชูรสชาติ เมื่อข้าวและนมพ้องกันนานเข้าจึงถูกเรียกติดปากว่า “ขนม” ไปโดยปริยาย ขนมไทยดึกดำบรรพ์ที่ในยุคถือกำเนิดนั้นมี 4 ชนิด คือ ไข่กบ หรือเมล็ดแมงลัก, นกปล่อย หรือลอดช่อง, บัวลอย หรือข้าวตอก และ อ้ายตื้อ หรือข้าวเหนียว มักใช้รับรองเจ้านาย หรือจัดอยู่ในสำรับในประเพณีต่างๆ เรียกอีกอย่างว่า “ประเพณีสี่ถ้วย”
พิพิธภัณฑ์ขนมไทย อัมพวา สมุทรสงคราม
และอีกมุม ที่จัดแต่งไว้อย่างงดงาม และเพลิดเพลินตาที่สุด น่าจะเป็นมุมของ ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวอัมพวาดั้งเดิมจะมีความผูกพันกับยุคนี้มาก เพราะมีหลักฐานอ้างอิงจากกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่ทรงเอ่ยถึงขนมพื้นบ้านอัมพวาไว้ด้วย มุมนี้จึงไม่ได้มีให้ชมเฉพาะขนมเท่านั้น เพราะมีการนำเสนอเครื่องคาวจากบทประพันธ์ที่เราคุ้นเคยให้ชมอย่างครบถ้วน เช่น มัสมั่น (แกงแก้วตา) อีกทั้งยุคนี้ยังถือว่าเป็นยุคที่การทำขนมไทยมีความวิจิตรงดงามและอาศัย ฝีมือมากขึ้น ใครมาชมมุมนี้ก็จะได้ความรู้เกี่ยวกับขนมหน้าตาสวยงามที่หลายคนอาจไม่คุ้น ชื่อ เช่น มัศกอด, รังไร หรือขนมลำเจียก ซึ่งปัจจุบันแทบจะหาทานทั่วไปได้ยาก นอกจากมาที่อัมพวาซึ่งยังพอจะเห็นขนมไทยในตำนานเหล่านี้มีวางขายที่ตลาดน้ำ ให้ได้ซื้อหามาชิมกัน
ความหลากหลายของขนมไทยยังรวมไปถึงขนมในยุคที่เป็นปัจจุบันขึ้นมาอีกนิด เช่น ขนมโหล ขนมแห้งที่เก็บไว้กินได้นาน เช่น ฟักเชื่อม มะตูมเชื่อม ขนมโก๋ ขนาบข้างด้วยซุ้ม น้ำแข็งไส ที่จัดเครื่องเคียงเรียงรายอยู่ในโถแก้ว ดูสมจริงจนชวนให้น้ำลายสอ และ ขนมรถเข็น หรือขนมถาด ที่เรามักจะเคยเห็นตอนค่ำๆ มุมนี้ก็นำเอารถเข็นของจริงพร้อมถาดขนมมาจัดแสดงให้เห็นถึงที่มาที่ไป เรียกได้ว่ามีทั้งส่วนที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ในตำนานของขนมไทย ไปถึงส่วนที่สะท้อนวัฒนธรรมการกิน การทำ และการนำเสนอขนมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในรายละเอียดที่ครบถ้วนทีเดียว

พิพิธภัณฑ์ขนมไทย แห่งนี้ไม่มีค่าเข้าชม โดยเปิดให้ชมฟรีในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 19.00 น. ทั้งนี้ก็อยากจะขอความร่วมมือให้ผู้เข้าชมช่วยกันรักษาความสวยงามของตัวขนม ที่นำมาจัดแสดง เพราะบางส่วนก็ผ่านการสัมผัสมามากจนดูทรุดโทรม ผู้จัดทำอุตส่าห์มีความตั้งใจให้คนไทยทุกคนได้เข้าชมโดยไม่เก็บสตางค์ ก็ขอให้ชมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อที่จะได้มีของโชว์สวยๆ สมบูรณ์แบบไว้ให้คนอื่นๆ ได้ชื่นชมต่อไปนานๆ
ส่วนใครที่แวะมาชมอาหารทางตาในพิพิธภัณฑ์แล้วเริ่มรู้สึกไม่ไหว พาลให้โหยหาอาหารอร่อยๆ มาเติมกระเพาะ ก็เพียงเดินลัดเลาะออกไปยังตลาดน้ำอัมพวาที่คุ้นเคย ก็จะได้อิ่มท้อง และอย่าลืมที่จะซื้อของฝากรสเลิศกลับบ้าน ถือเป็นการจบทริปอิ่มหมีพีมัน ณ อัมพวาอย่างสมบูรณ์แบบ

 credit : http://www.emaginfo.com ร่วมกับ travel.mthai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น